ความสำคัญของการอ่านจับใจความสำคัญ
ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์ของชาติเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมอันก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและเสริมสร้างบุคลิกภาพของคนในชาติให้มีความเป็นไทย เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบธุรกิจ การงาน และดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยได้อย่างสันติสุข และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนาความรู้ พัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่งคง นอกจากนี้ยังเป็นสื่อแสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี และสุนทรียภาพ เป็นสมบัติล้ำค่าควรแก่การเรียนรู้ อนุรักษ์ และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551)
โดยมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย กำหนดทั้งสิ้น 5 สาระ ดังนี้ สาระที่ 1 การอ่าน สาระที่ 2 การเขียน สาระที่ 3 การฟัง การดู และการพูด สาระที่ 4 หลักการใช้ภาษาไทย และสาระที่ 5 วรรณคดีและวรรณกรรม ซึ่งในสาระการเรียนรู้ที่ 1 เรื่องการอ่านนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนไปสู่สาระอื่น ๆ ในลำดับต่อไป โดยสาระการอ่าน ตามมาตรฐาน ท 1.1 ใช้กระบวนการอ่านสร้างความรู้ และความคิดเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจ แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต และมีนิสัยรักการอ่าน (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551) ทั้งนี้การอ่านจับใจความสำคัญ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการเป็นพื้นฐานแห่งการเรียนรู้แก่นักเรียนทุกคน เพราะหากนักเรียนสามาถอ่านจับใจความสำคัญได้อย่างถูกต้อง จะเป็นการสร้างรากฐานในการอ่านที่ดีขึ้นในลำดับต่อไป